วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำไมต้องบูรณาการเป็นโครงงาน ?



ทำไมต้องบูรณาการ ?

เมื่อเราแยกส่วนเราจะพบว่าสิ่งนั้นพร่องไป แม้แต่ร่างกายเราก็เช่นกัน เช่นเมื่อเราไปตรวจวัดสายตาเราจะพบว่าตาแต่ละข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่พอประกอบกันทั้งสองข้างก็ทำให้การเห็นสมบูรณ์ขึ้น หรือถ้าเราวิ่งขาเดียวเฉพาะข้างที่ถนัดก็จะพบว่าเราวิ่งได้ช้ามากเมื่อเทียบกับการวิ่งสองขาที่รวมเอาข้างที่ไม่ถนัดเข้าไปด้วย ในป่าที่มีความ หลากหลายของพันธุ์พืชจะพบว่ามีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์ อยู่ด้วย ดิน น้ำ อากาศ บริเวณนั้นก็สมบูรณ์ไปด้วย ซึ่งจะแตกต่าง อย่างชัดเจนกับแปลงปลูกยูคาลิปตัส หรือแปลงปลูกพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ วิชาความรู้ก็เช่นกันเราไม่สามารถใช้อย่างโดดๆ ได้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งจำเป็นจะต้องใช้ศาสตร์ศิลป์หลายๆ อย่างการออกแบบ หน่วยบูรณาการจะช่วยให้ผู้เรียนได้เห็น และได้ใช้ชุดความรู้ได้อย่างแท้จริงตั้งแต่ต้น

บูรณาการสหวิชา

กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน Problem-based learning (PBL) เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ และได้เครื่องมือที่เป็นทักษะไปพร้อมกัน นักเรียนจะเป็นผู้ระบุปัญหาที่ประสบอยู่ แล้วแสวงหานวัตกรรมเพื่อลงมือในการแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง

ขั้นตอนการเรียนรู้

1. การเผชิญปัญหาจากสภาพจริง (ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นปัญหาที่เผชิญอยู่ในตัวคน ในชุมชน ในสังคม ที่จะส่งผลสู่อนาคต) หรือ สภาพเสมือนจริง (ข้อมูลทุติยภูมิ )

2. การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเรียนรู้ โดยการอำนวยการ ให้เกิดการเรียนรู้ภายในของแต่ละคน และการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น สูงขึ้นอย่างเป็นองค์รวม ทั้งองค์รวมภายในคนคนหนึ่ง และ องค์รวมที่เชื่อมสัมพันธ์กันอยู่ ในระบบใหญ่ ขั้นตอนการเรียนรู้มีดังนี้

1. ขั้นชง เป็นขั้นกระตุ้นให้เกิดการปะทะจริง ทางประสาทสัมผัส ทางความคิด หรือ ความรู้สึก โดยการสืบค้น ทดลองปฏิบัติ เกิดความรู้ความเข้าใจระดับบุคคลจากข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ ขั้นตอนนี้ครูต้องตั้งคำถามเก่งเพื่อจะปลุกเร้าความใคร่รู้ในตัวผู้เรียน

2. ขั้นเชื่อม เป็นขั้นของการแลกเปลี่ยน และ ตรวจสอบ เป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเองรู้กับสิ่งที่คนอื่นรู้ ทั้งยังได้ร่วมกันตรวจสอบ ข้อเท็จจริงที่แต่ละคนพบเพื่อการมองเห็นรอบด้านของข้อเท็จจริง ขั้นตอนนี้ยังลดความอหังการ์ในตัวรู้ ในขณะเดียวกันโครงสร้าง องค์ความรู้และความเข้าใจก็จะก่อขึ้นในสมอง ในที่สุดก็จะพบคำตอบด้วยตัวเอง ขั้นตอนนี้ครูต้องเป็นนักอำนวยการที่จะสร้างบรรยากาศ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างแท้จริง ไม่ผลีผลามสรุปเสียเอง เพราะการทำอย่างนั้นจะเป็นการลดทอนศักยภาพการเรียนรู้ในตัวผู้เรียน

3. ขั้นใช้ ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่จะทำให้โครงสร้างความเข้าใจในสมองคมชัดขึ้น โดยการให้ผู้เรียนตอบสนองต่อโจทย์ใหม่ทันทีหลังจากขั้นเชื่อม เช่น การทำภาระงานหรือชิ้นงานใหม่ การทำการบ้าน หรือการปรับใช้ในชีวิตจริง เป็นต้น ขั้นตอนนี้ครูต้องเป็น นักสังเกตการณ์ที่สามารถมองเห็นความก้าวหน้าหรือความขัดข้องของเด็กแต่ละคน

**จุดเด่นของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง ลงมือปฏิบัติจริง และ เพื่อใช้ในชีวิตจริง เกิดการใช้องค์ความรู้และทักษะอย่างบูรณาการ เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น กระบวนการคิด การแก้ปัญหา

ถ้าเราทอดปลาครั้งแรกแล้วมันติดกะทะนั่นคือ เราเจอปัญหา และปัญหานั้นทำให้เราได้เรียนรู้และเมื่อทอดปลาครั้งใหม่มันอาจจะไม่ติดกะทะแล้ว แต่มันอาจจะข้างนอกไหม้ ข้างในไม่สุก เราจะเจอปัญหาใหม่ในงานเดิม การทำผิดอย่างนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การผลักให้เด็กทำผิดไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

**รายละเอียดการออกแบบหน่วยการเรียนบูรณาการเพื่อให้บรรลุ เป้าหมายใหม่และไม่หลุดจากมาตรฐานหลักสูตรแกนกลางเหล่านี้มีในเล่ม “การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา”

ที่มา:วิเชียร ไชยบัง ปาฏิหาริย์การศึกษา (ณ โรงเรียนนอกกะลา)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น